เมนู

บุคคลได้สดับเสียงแล้ว มัวใส่ใจถึงอารมณ์เป็น
ที่รัก สติก็หลงลืม ผู้ใดมีจิตกำหนัดยินดี เสวยสัท-
ทารมณ์ สัททารมณ์ก็ครอบงำผู้นั้น อาสวะทั้งหลาย
ย่อมเจริญแก่ผู้นั้น ผู้เข้าถึงซึ่งสงสาร
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺทํ ได้แก่ สัททารมณ์อันเป็นที่ตั้ง
แห่งความกำหนัด.
บทว่า สํสารอุปคามิโน ความว่า ชื่อว่าผู้เข้าถึงซึ่งสงสาร เพราะ
เข้าถึงสงสารอันเป็นตัวเหตุแห่งสังสารวัฏ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
ลำดับแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ ยังเป็นไปไม่ขาด
สาย ท่านก็เรียกว่า สงสาร
ดังนี้.
ปาฐะว่า สํสารูปคามิโน ดังนี้ ก็มี. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้ว
ในคาถาติดต่อกันไป.
จบอรรถกถาอุตติยเถรคาถา

10. เทวสภเถรคาถา (ที่ 2)
ว่าด้วยคาถาของพระเทวสภเถระ


[237] ได้ยินว่า พระเทวสภเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียรชอบ มีสติปัฏฐาน
เป็นอารมณ์ ประดับประดาด้วยดอกไม้ คือ วิมุตติ
จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน.

จบวรรคที่ 10

อรรถกถาเทวสภเถรคาถา


คาถาของท่านพระเทวสภเถระ เริ่มต้นว่า สมฺมปฺปธานสมฺปนฺโน.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้า
องค์ก่อน ๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้น ๆ เกิดใน
เรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สิขี ถึงความ
เป็นผู้รู้แล้ว วันหนึ่งเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี เป็นผู้มีใจ
เลื่อมใสแล้ว ได้ทำการบูชาด้วยดอกชบา.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิด
ในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ ในพระนครกบิลพัสดุ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มี
นามว่า เทวสภะ. เขาเจริญวัยแล้ว เห็นพุทธานุภาพ ในคราวเมื่อพระบรม-
ศาสดาเสด็จมาเพื่อระงับการทะเลาะกันเรื่องเทริด เป็นผู้มีใจเลื่อมใสแล้ว
ตั้งอยู่ในสรณคมน์ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในนิโครธาราม เข้าไปเฝ้าพระ-
ศาสดาอีก ได้เป็นผู้มีศรัทธาแล้วบวช กระทำบุรพกิจเสร็จแล้ว เจริญวิปัสสนา
บรรลุพระอรหัตแล้วต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ใน
อปทานว่า
เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า
สิขี ผู้ปราศจากมลทินบริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ดัง
พระจันทร์มีความยินดีในราคะสิ้นแล้ว ทรงข้ามตัณหา
ในโลกแล้ว ทรงยังหมู่ชนให้ดับเข็ญ ทรงข้ามเองแล้ว
ยังผู้อื่นให้ข้าม เป็นมุนีผู้ประเสริฐ เพ่งฌานอยู่ในป่า